แถลงข่าว: บันทึกเครือข่ายภาคประชาชน กรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ | Boring Days

แถลงข่าว: บันทึกเครือข่ายภาคประชาชน กรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ

Date 10 August 2010 – 20:59

วันนี้ (๑๐ สิงหาคม) เครือข่ายภาคประชาชน นัดแถลงข่าว “บันทึก เครือข่ายภาคประชาชน กรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ” ประกาศท่าทีและจุดยืนภายหลังร่วมรายการพิเศษถกประเด็นปราสาทพระวิหาร มรกดโลก และ MOU43 ที่ช่อง ๑๑ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัล ปรินเซส หลานหลวง โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน อาทิเช่น ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อ.วีรพันธ์ มาลัยพันธุ์ อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม วีระ สมความคิด เป็นต้น

ในบันทึกดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญในสองส่วน คือ ๑. การยอมรับและยืนยันของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในข้อเท็จจริงหลายประเด็น และ ๒. ในส่วนของภาคประชาชน ได้เน้นย้ำ ยืนยันในข้อเท็จจริง และเรียกร้องการดำเนินการของรัฐบาลต่อ MOU43 การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร แผนที่ ๑:๒๐๐,๐๐๐ คำพิพากษาของศาลโลก และตำหนิกรณีการยกพระราชดำรัสฯ มาเบียงเบนและปิดปากประชาชน ในทำนองตีหัวเข้าบ้าน

คณะนัดหมายกันเวลา ๑๐.๐๐ น. เพื่อปรึกษาหารือและร่างบันทึกฯ ซึ่งใช้เวลาร่วมสามชั่วโมง เป็นบันทึกความยาว ๖ หน้า A4 ก่อนแถลงข่าวในเวลา ๑๓.๐๐ น. ซึ่งมีรายละเอียดในบันทึกฯ ดังนี้

——-

                                                               บันทึก

                                                    เครือข่ายภาคประชาชน

                                 กรณีข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ

      ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้จัดเวลาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคประชาชน โดยการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ระหว่างเวลา 10.00 น. – 13.00 น.นั้น เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งติดตามเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบขอประกาศจุดยืนดังต่อไปนี้

     1. เราขอบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับ

     และยืนยันว่าไทยยึดหลักสันปันน้ำตามทิวเขาดงรักเป็นเส้นเขตแดนอย่างเคร่งครัด

     ยืนยันว่าเฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และไทยได้โต้แย้งและสงวนสิทธิ์เอาไว้แล้วตามหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ เลขที่ (0601) 22239/2505 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ดังนั้นฝ่ายไทยจึงยังถือว่าพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้น อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย

     ยอมรับว่าฝ่ายกัมพูชาได้รุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยในบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้นเป็นความจริง

     ยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยด้วยมาตรการการทูตและการทหาร

     ยืนยันว่าไทยจะไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (ICC) ที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่ตัวปราสาทพระวิหารในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

     ยืนยันจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลกต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วย

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกรอบการเจรจาออกจากการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

     ยืนยันว่ายูเนสโกได้ละเมิดอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ตามธรรมนูญของยูเนสโกในข้อ 1 วรรค 3 ว่าห้ามมิให้ยูเนสโกแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก

     ยืนยันว่าเอกสารและการดำเนินการที่จะผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอีกครั้ง ก่อนขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น พิจารณาเห็นชอบหรือรับรองรายงานการประชุมลับของรัฐสภาเรื่องกรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551, ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร, ฯลฯ

     2. การอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณีเนิน 491 ระหว่างไทย-พม่า และกรณีของไทย-กัมพูชา นั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรที่นำพระราชดำรัสในต่างกรรมต่างวาระมากล่าวสรุปปิดท้ายรายการโดยมีความประสงค์ที่จะกลบเกลื่อนเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาที่มีอยู่จริง เพราะกรณีเนิน 491 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในการครอบครองซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารซึ่งมีเขตแดนชัดเจนอยู่แล้ว และกรณีไทย-กัมพูชา ในขณะนั้น ก็มีความแตกต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ฝ่ายกัมพูชามีเป้าหมายในการรุกล้ำและเข้ามายึดครองดินแดนไทย โดยใช้ MOU 2543 เป็นเครื่องมือ ในกรณีหากมีข้อพิพาทห้ามใช้กำลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น

     3. เราขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ได้จัดทำเสร็จสิ้น     โดยคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส เมื่อ 103 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะทิวเขาดงรักอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร คณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ได้มีมติให้ยึดหลักสันปันน้ำตามสนธิสัญญาแล้ว ดังนั้นเขาพระวิหารอันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาทพระวิหารจึงไม่มีความจำเป็นต้องปักปันเขตแดนใหม่ หรือจัดทำหลักเขตแดนใหม่แต่ประการใด การระบุเอาไว้ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543) ในข้อ 1 ค. ซึ่งระบุให้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ด้วย ย่อมทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปใช้ต่อไปในอนาคตทั้งที่การปักปันเขตแดนได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 ( พ.ศ. 2450)

     เราขอยืนยันว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นแผนที่ที่ผิดพลาด ไม่สามารถนำมาใช้ได้ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่เคยพิพากษาแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ควรกำหนดแผนที่ดังกล่าวไว้ใน MOU 2543 อนึ่ง คำพิพากษาแย้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 นั้นระบุว่าแผนที่ดังกล่าวมีข้อผิดพลาดหลายแห่ง

     4. การที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือแจ้งไปรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2551 ว่า ฝ่ายไทยไม่ยึดถือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ในระวางที่เรียกว่าดงรัก เพราะถือว่าไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเอกสารดังกล่าว แจ้งให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด

     อย่างไรก็ตามการแสดงออกดังกล่าวยังอยู่ในระดับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศของไทยฝ่ายเดียว และไม่มีผลเท่ากับการยกเลิก MOU 2543 ตามที่ภาคประชาชนร้องขอแต่ประการใด

     นอกจากนี้ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศในยุคปัจจุบันยังมีความคลาดเคลื่อนอย่างมากจากความเป็นจริงและขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ เข้าใจผิดว่าการยึดแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 นั้นมีความสำคัญมากกว่าข้อบทแห่งสนธิสัญญาเพราะแผนที่เกิดขึ้นภายหลัง, เข้าใจผิดว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส, เข้าใจผิดว่าแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นผลของการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม –ฝรั่งเศส, นอกจากนั้นยังเข้าใจคำพิพากษาของศาลโลกไม่ถูกต้องว่าได้พิพากษายอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าไทยยังคงใช้ MOU 2543 ต่อไป

     ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยการออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนในการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและเป็นข้อกฎหมายที่ผิดพลาด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

     5. เราเห็นว่าบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา (MOU 2543) ถือได้ว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ แต่กลับไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 224

     6. กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านได้ขอให้มีการถอนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกรอบการเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เราขอให้มีการบันทึกกรณีดังกล่าวในรายงานการประชุมของรัฐสภา

    7. ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีอ้างว่า MOU 2543 มีประโยชน์เพียงเพื่อให้รู้ว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดตาม MOU 2543 ซึ่งฝ่ายไทยได้ทำหนังสือประท้วงไปไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการถูกรุกล้ำอธิปไตยและเข้ายึดครองดินแดนไทยได้ จึงเป็นเหตุสมควรที่จะยกเลิก MOU 2543 ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1969 ได้ในทันที

     เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงอำนาจอธิปไตยของไทยในพื้นที่ซึ่งถูกรุกล้ำนอกเหนือจากมาตรการทางการทูตและการทหาร เช่น การทำหน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, การทำหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย, การจัดเก็บภาษีต่างๆของกระทรวงการคลัง ตลอดจนใช้กำลังทหารในการผลักดัน เพื่อปกป้องรักษาดินแดนและอธิปไตยของไทย

     8. เราขอยืนยันว่า หากยกเลิก MOU 2543 แล้ว ไทยไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการอธิบายกับนานาชาติได้ว่าสาเหตุในการยกเลิกเพราะมีเหตุสืบเนื่องมาจากการละเมิด MOU 2543 ของฝ่ายกัมพูชา และถึงแม้ยกเลิก MOU 2543 แล้วเขตแดนไทยตามสันปันน้ำบริเวณทิวเขาดงรักก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

     9. เราขอให้รัฐบาลไทยทำการประท้วงนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กรณีที่ประกาศว่ากัมพูชาได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากการที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ไปลงนามในร่างมติประนีประนอมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งจะกลายเป็นมติมรดกโลกต่อไป และทำหนังสือยืนยันคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชา ที่นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่ครั้งที่ 31 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

     10. คำแถลงของ ฮุน เซน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ว่าพร้อมจะนองเลือด ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ และการประกาศของฝ่ายกัมพูชาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชานั่นเองที่จะเป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน จึงขอรัฐบาลไทยทำการประท้วงและทำหนังสือแจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโก ว่าในกรณีนี้กัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายรุกล้ำอธิปไตยและเข้ายึดครองดินแดนไทยจะเป็นผู้ที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน ดังนั้นย่อมเป็นการตอกย้ำว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกครั้งนี้ เป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

                                                                                  เครือข่ายภาคประชาชน

                                                                                 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

——————

ดาวน์โหลด: ไฟล์เอกสาร บันทึกฯ (PDF) 

ภาพบรรยากาศระหว่างการหารือ จัดทำบันทึกฯ และการแถลงข่าว ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัล ปรินเซส หลานหลวง














ข่าวเกี่ยวเนื่อง: เครือข่าย ปชช.ย้ำจุดยืนต้าน MOU43 ร้องรัฐใช้มาตรการปกป้องอธิปไตย (เนื้อข่าว คลิปข่าว และเสียงคำแถลง)



ความเดิมประเด็นใกล้เคียงกัน

(บางทีระบบก็มั่ว ..แต่คลิกอ่านเถอะ)


Use Coupon Code: boringdays for $9.94 discount









ร่วมคิดร่วมคุย

โปรดทราบ: เม้นได้เลย ไม่ต้องสมัครสมาชิก และไม่คิดตังค์ คิดอย่างไรโพสต์ตามนั้น แต่อย่าเหลี่ยม อย่าเหวง อย่าแหย อย่าแหล อย่าแดงเทียม อย่าไม่ใช่มติแกนนำ อย่าใช้ภาษาสัตว์เลื้อยคลาน และอย่ากวงตีง //ข้อความไม่ขึ้นไม่ต้องโพสต์ซ้ำ ข้อความอยู่ในระบบแล้ว




XHTML: คุณสามารถใช้ tags: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>

ใส่อารมณ์:


:แว่นดำ: :แว: :แลบ: :แม่มๆ: :แง่: :เหล่: :เบี้ยว: :ฮือ: :อ๋าย: :หื่นๆ: :ยิ่มแฉ่ง :ม่ายๆ: :ดำๆ: :ดอก: :ฉงน: :ขยิบ: :Oo: :555+: